30 พฤศจิกายน 2554
29 พฤศจิกายน 2554
หลิวเซี๊ยะหัว (ซูสีไทเฮา 1984)
25 พฤศจิกายน 2554
อดีตถึงปัจุบัน..คึดถึงใครดูเลยครับ
18 พฤศจิกายน 2554
"สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "นิ้วกลม"
อ่านชีวิตในมุมที่อบอุ่นของผู้ชายอารมณ์ดีชื่อ "นิ้วกลม"
หากเอ่ยถึง "สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์" คงไม่มีใครรู้จักผู้ชายคนนี้กันดีเท่ากับชื่อ "นิ้วกลม" นามปากกาสุดฮิปที่เริ่มจากนามจอ (นามปากกาที่ใช้ในเว็บบอร์ดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ) จนบานปลายกลายมาเป็นชื่อแทนตัวตนที่ทำให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนหลงใหล และคลั่งใคล้ในงานเขียนของเขา
ทั้งผลงานในนิตยสารอะเดย์ที่รวมเล่ม และตีพิมพ์เป็นบันทึกการเดินทางสร้างชื่ออย่างโตเกียวไม่มีขา กัมพูชาพริบตาเดียว เนปาลประมาณสะดือ สมองไหวในฮ่องกง และนั่งรถไฟไปตู้เย็น นอกจากนี้ยังมีนวนิยายมีมือ ผม, มิราคามิ รวมไปถึงความเรียงเรื่องอิฐ ณ. เพลงรักประกอบชีวิต และอาจารย์ในร้านคุกกี้
แต่กว่าจะพาตัวเองมาเป็นนักเขียนจนมีผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจ และกลายเป็นนักเขียนในดวงใจของใครหลาย ๆ คนนั้น สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยอาจยังไม่ทราบก็คือ ความอบอุ่น ความเข้าใจ และสายใยรักภายในครอบครัว อันเป็นที่มาของพลังในตัวหนังสือที่ถูกส่งผ่านไปยังสายตาผู้อ่านทุก ๆ ท่าน
ผู้ชายอารมณ์ดีผู้สร้างโลกสวย ๆ ผ่านตัวหนังสือในวัย 33 ปีคนนี้ เล่าว่า เขาเติบโตในครอบครัวที่พ่อกับแม่เปิดร้านขายของชำ มีพี่สาว 2 คน คนหนึ่งเป็นเภสัชกร ส่วนอีกคนเป็นเจ้าของร้านสุกี้ ทั้งเขาและพี่สาวถูกเลี้ยงดูแบบให้อิสระในการคิด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ และมีความรับผิดชอบต่อการเรียนควบคู่ไปด้วย
"ความเป็นผู้เป็นคนของผม พูดได้เต็มปากเลยว่า ผมได้มาจากพ่อ (หัวเราะ) เพราะพ่อจะคอยคุมให้อยู่ในระเบียบ และค่อนข้างมีหลักการ ส่วนความละเอียดอ่อนและความอ่อนโยนผมได้จากแม่เยอะมาก ๆ เพราะแม่จะเป็นผู้หญิงที่รักธรรมชาติ และรักสัตว์ ทุกวันนี้แม่จะเลี้ยงจิ้งจกไว้บนโต๊ะทานข้าว (หัวเราะ) เจอคางคกก็ไม่ไล่ หรือบางครั้งเห็นกระรอก เห็นนกก็ชอบแอบเอาอาหารไปให้"
ดังนั้นคุณแม่ในความหมายของเขาจึงเป็นโลกของความฝัน ส่วนคุณพ่อคือโลกของความเป็นจริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าคุณพ่อก็คือส่วนของเหตุผล คุณแม่ก็คือส่วนทางอารมณ์ และจินตนาการนั่นเอง
"คนเราต้องใช้อารมณ์ในการคิดสิ่งต่าง ๆ ให้มันสวยงาม ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เหตุผลในการควบคุม และผลิตสิ่งที่ตั้งใจจะทำ หรืออยากถ่ายทอดมันออกมา ทั้งสองสิ่งนี้คือส่วนผสมที่ผมได้มันมาจากพ่อกับแม่ ซึ่งมันอยู่ในตัวผม และอยู่ในงานเขียนของผมด้วย"
หากใครได้เคยอ่านงานเขียนของนิ้วกลม เราจะพบกับพลังของตัวหนังสือที่ให้แง่คิด และสามารถกระตุ้นให้คนอื่น ๆ มีแรงพลังที่จะคิด และทำอะไรดี ๆ ได้มากมาย ซึ่งพลังของตัวหนังสือนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนสำคัญมาจากครอบครัวที่คอยสร้างโลกอันสวยงามให้แก่เขา
"ครอบครัวมีผลอย่างมากต่อทัศนคติในการมองโลกของผม เพราะผมรู้สึกว่า ครอบครัวไม่ทำร้ายผม อยู่บ้านแล้วรู้สึกปลอดภัยว่างั้นเถอะ เวลาออกมาสู่โลกนอกบ้าน ผมจึงไม่กลัวเท่าไร เพราะผมรู้อยู่แล้วว่า เรามีเบาะนิ่ม ๆ รออยู่ที่บ้าน ถ้าพลัดตก หรือทำอะไรผิดพลาด อย่างน้อย ๆ เราก็มีเบาะนิ่ม ๆ ใบนี้รองรับเราอยู่ แต่ถ้าในบ้านมันแหว่ง หรือมีอันตราย ผมมองว่า เราจะระแวงโลกมากกว่านี้ บางคนอาจมองโลกในแง่ร้ายไปเลยก็มี แต่ผมโชคดีที่บ้านผมไม่ใช่อย่างนั้น"
"โดยเฉพาะแม่ เธอเป็นซูเปอร์เบาะมาก ๆ ไม่ว่าเราจะเจออะไร หรือผิดพลาดอะไร เราก็ถูกไปหมดสำหรับแม่ (หัวเราะ) อย่างถูกผู้หญิงหักอก แม่ก็จะปลอบใจว่า อย่าไปสนใจเขาเลย ซึ่งความรักของแม่ในความรู้สึกของผมตรงกับเพลง ๆ หนึ่งของ Projects H ซึ่งเนื้อร้องว่า...ต่อให้ใครไม่รัก ต่อให้ใครไม่สน แต่อยากจะขอให้เธออดทน ไม่ต้องไปหวั่นไหว ต่อให้ดาวหมดฟ้า ต่อให้คนทั้งโลกไม่เข้าใจแต่รู้ไว้อย่างได้ไหม ว่าฉันนั้นรักเธอ...นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกได้ว่า แม่มีให้ผมมาโดยตลอด" นิ้วกลมเผยความรู้สึกถึงแม่
ถึงแม้ว่าแววในการเป็นนักเขียนจะไม่ได้เฉิดฉายมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความสนใจในงานเขียน ทำให้เขาเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นตอนเรียนคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ โดยต้นเริ่มจากหนังสือของเพื่อนเรื่อง The Neverending story เรื่อยมาจนเป็นวรรณกรรม และนิตยสาร A day, Summer Open ที่ทำให้เขามีไฟ และอยากเขียนหนังสือดี ๆ เพื่อสร้างโลกแห่งความจริงที่สวยงามขึ้นมา
"ผมมีความสุขทุก ๆ ครั้งที่ได้เขียน ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี เพราะงานเขียนเป็นงานที่ทำให้ผมได้ทบทวนความคิด ทบทวนตัวเอง ทำให้เราเข้าใจตัวเอง แต่สิ่งที่โชคดีกว่านั้นก็คือ มีคนเขาอ่านงานของเรา แล้วเขาบอกเราว่า อ่านแล้วรู้สึกดีจังเลย หรือบางคนก็บอกว่า อ่านแล้วคิดอะไรได้เยอะเลย อ่านแล้วหายทุกข์ ซึ่งเราฟังแล้วก็รู้สึกดีมาก ๆ ครับ" นิ้วกลมกล่าวด้วยความภูมิใจ
ดังนั้น สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในการเขียนหนังสือไม่ใช่การสร้างโลกในจินตนาการ แต่เป็นการสร้างโลกสวย ๆ ในความจริงขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ "นิ้วกลม" ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านงานเขียนหลาย ๆ เล่มของเขาที่สามารถกระตุ้นให้คนอ่านมีพลังที่จะคิดและทำอะไรดี ๆ หลายอย่าง ซึ่งคงไม่เกินไปนัก ถ้าจะบอกว่า พลังในงานเขียนส่วนหนึ่ง เขาได้มันมาจากผู้อ่าน และที่สำคัญมันมาจากความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นในครอบครัวด้วย
"ความหมายของคนคนหนึ่ง คือความหมาย และคำตอบของการที่ว่า ทำไมเราต้องอยู่บนโลกต่อไป ผมว่าจริง ๆ แล้วคนเราโคตรไม่มีเหตุผลในการต้องอยู่เลย พรุ่งนี้จะตายไปก็ได้ มันไม่ได้กระทบอะไรต่อโลกใบนี้เลย แต่คำตอบของการที่เราต้องอยู่สำหรับผมก็คือ เพราะเราจะได้อยู่ด้วยกันไง ได้อยู่กับพ่อแม่ที่เรารัก เพราะถ้าไม่มีเรา เขาก็จะรู้สึกขาดหาย เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่มีเขา เราก็รู้สึกขาดหายเหมือนกัน"
"ดังนั้น ตอนเราอยู่ด้วยกัน เราไม่รู้หรอกว่ามันสำคัญขนาดไหน แต่เวลาที่เราต้องการใครสักคน ครอบครัวคือสิ่งมาตอบตรงนั้นได้ และอาจคิดไปได้กว้างกว่านั้น คือ ถ้าตัวเราสามารถให้ความรัก และทำตัวให้มีคุณค่ากับผู้อื่นเหมือนที่พ่อกับแม่ทำกับเรา มันก็คงจะดี เพราะมันทำให้เรามีเหตุผลที่จะตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า เราก็หายใจต่อไปได้ หรือเรามีความหมายต่อคนอื่นอยู่เหมือนกันนะ" นิ้วกลมเผย
ถึงวันนี้ นิ้วกลมผันตัวเองจากนักเขียนประจำ และผู้กำกับโฆษณามาทำงานอิสระ ทั้งเขียนคอลัมน์ บทความ และเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ทางช่องไทยพีบีเอส (รายการพื้นที่ชีวิต กับรายการเป็นอยู่คือ) ทำให้เขามีเวลากับครอบครัว และคนรักมากขึ้น
"ทุก ๆ เช้า ผมจะลงมาทานกาแฟกับพ่อแม่ และคุยกันมากขึ้น อย่างน้อย ๆ ผมจะหาเวลาสักวันเจอกันตอนเช้าแล้วกลับมาทานข้าวเย็นร่วมกันในครอบครัว เพราะผมรู้สึกว่า หน้าต่างของเขาก็คือลูก เขาก็อยู่กับชีวิตเดิม ๆ ของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำชีวิตเขาให้มีสีสันและไม่น่าเบื่อก็คือ เรื่องที่ลูกคาบมาเล่าให้เขาฟัง ถึงแม้ว่าบางเรื่องจะเป็นเรื่องทุกข์ใจของลูก แต่มันก็เป็นเรื่องที่พ่อกับแม่ยินดีรับฟังเราเสมอ" นิ้วกลมทิ้งท้ายถึงความสุขที่ได้ใช้เวลากับครอบครัว